หน้าหลัก....Log in สมาชิก....Log in ฝ่ายบริหาร....ความเป็นมา....PWDOM....ติดต่อเรา
.........................................................................................................................................................................................

ปิดโครงการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2551

..........

โครงการหางานเพื่อเพื่อนผู้พิการ ครั้งที่ 1

.

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ BIZWEEK (กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์) : พีดับบลิวดี บทพิสูจน์ศักยภาพคนพิการ

พีดับบลิวดี บทพิสูจน์ศักยภาพคนพิการ

พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

สิ่งที่ผู้พิการต้องการจากสังคม หาใช่ความสงสาร หรือการสงเคราะห์ แต่เป็น “โอกาส” ในการพึ่งพาตัวเอง พิสูจน์ว่าแม้ร่างกายจะบกพร่อง แต่ด้วยสมองที่สมบูรณ์ ก็สามารถทำธุรกิจ แสดงศักยภาพทางการแข่งขันที่ไม่ต่างจากคนปกติได้เช่นกัน

เริ่มต้นจากความพยายามพิสูจน์ศักยภาพในตัวผู้พิการของ "สุรภาธนันท์ นิธิยศจิระโชติ" จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอร์ส เมเนจเมนท์ จำกัด (พีดับบลิวดี) เพื่อทำธุรกิจด้าน "เทเลเซลส์" หรือการให้บริการลูกค้าผ่านสายโทรศัพท์ ที่ดำเนินการโดยผู้พิการล้วนๆ มากกว่าที่จะตั้งเป็น สมาคมฯ ชมรมฯ เพื่อรอรับความช่วยเหลือ หากสิ่งที่เขาทำ คือต้องการแข่งขันกับคนปกติ

แม้ที่ผ่านมาภาคเอกชนหลายแห่งจะจัด “งานเพื่อผู้พิการ” ถือเป็นการให้โอกาส ให้รายได้ถ้าผู้พิการทำงานได้ เป็นการตอบแทนสังคมประการหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญคือ การขาดความเข้าใจถึงลักษณะของความพิการที่แตกต่าง หลากหลายกันออกไป ยากต่อการตอบสนองลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้โครงการต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้า ซึ่งมีผลต่อการผลักดันโครงการต่อๆ มา ดังนั้น ถ้า พีดับบลิวดี มาเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการ เชื่อมช่องว่างระหว่างบริษัทเอกชน กับผู้พิการ นำเครื่องมือต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับความพิการที่แตกต่าง คัดเลือกผู้พิการที่เหมาะกับงานในแต่ละลักษณะ จึงเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย

สุรภาธนันท์ บอกว่า การจดทะเบียนตั้ง พีดับบลิวดีเป็นบริษัท เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อได้รับการติดต่อจาก บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (ฮัทช์) และ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีความต้องการตรงกันว่า ต้องการโครงการทำงานโดยคนพิการ และต้องการให้มีผู้ประสานงาน เมื่อจุดประสงค์ตรงกัน ภายใน 15 วันทุกอย่างจึงสำเร็จ

โดยงานที่ได้รับ คือ เข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการคัลเลอร์ ริง เสนอบริการเพลงรอสายของฮัทช์ ซึ่ง พีดับบลิวดี ใช้เวลาประมาณ 15 วันในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับผู้พิการ และร่วมมือกับสมาคมผู้พิการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น สมาคมคนตาบอดฯ, สมาคมคนหูหนวกฯ, สมาคมคนปัญญาอ่อนฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อประสานงานข้อมูลไปยังผู้พิการทั่วประเทศ และจะรอรับรายชื่อและคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถมาร่วมงาน จำนวน 50 คน เข้าร่วมโครงการเฟสแรก ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. - 15 มิ.ย. เป็นเวลา 3 เดือน ผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับรายได้เป็นเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่น ก่อนที่จะขยายผลไปยังบริการอื่นๆ

“คนปกติอาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่งานนี้สามารถทำที่บ้านได้ ทำให้ตัดปัญหาการเดินทาง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้พิการ และยังช่วยลดปัญหาอื่นๆ เพราะถ้าอยู่บ้าน ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของผู้อื่น” สุรภาธนันท์ บอก

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการเจรจาเพื่อให้บริการกับบริษัทอื่นๆ แล้ว เช่น บริษัท ประกันภัย ให้บริการลักษณะเทเลเซลส์และบริการรูปแบบอื่นๆ กับลูกค้า ซึ่งต่อไปหาก พีดับบลิวดี สามารถพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้พิการให้สามารถทำงานได้ และออกไปเป็นพนักงานประจำกับบริษัทเอกชนอื่นๆ ได้ ก็ถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จ ขณะที่ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับทำงานถือว่า ใช้เวลาใกล้เคียงกับที่มีการก่อตั้งบริษัทมา

"ปรีดา ลิ้มนนทกุล" ผู้จัดการทั่วไป ของพีดับบลิวดี บอกว่า ระบบซอฟต์แวร์ ในเบื้องต้นในโปรแกรม ไมโครซอฟท์ แอ็คเซ็สธรรมดา และมีการพัฒนาต่อด้วยเอสคิวแอล เป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย เพียงแค่สามารถใช้งานเมาท์คอมพิวเตอร์ได้ ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้านได้ และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้ผู้พิการทางสายตาจะสามารถใช้งานได้ ซึ่งคาดว่าจะสมบูรณ์ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้

ที่สำคัญ ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตไดอัล อัพ ความเร็ว 56 กิโลบิตต่อวินาที ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว เพราะเวบเซอร์วิสที่ออกแบบมานั้น ใช้งานที่ได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีลูกเล่นพิเศษอะไร

"กิตติชัย เนตรพิศาลวนิช" ผู้พิการจากเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ในมูลนิธิเมาไม่ขับ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในโครงการฮัทช์ เป็นผู้ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง แต่ก็เป็นปัญหาเพียงทางกายภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งปัจจุบัน กิตติชัย ใช้ “คาง” ในการบังคับเมาท์เพื่อทำงาน แต่ก็ยังสามารถทำงานออกมาได้เป็นอย่างดี

"ธีรพันธ์ ศิริสุนทรไพบูลย์" ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ของฮัทช์ บอกว่า ฮัทช์ร่วมกับแกรมมี่ จัดสรรงบประมาณ 1.2 ล้านบาท เพื่อให้ผู้พิการได้มีส่วนร่วมในการทำงาน และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะจัดโครงการต่อเนื่องไปยังบริการประเภทอื่นๆ ของบริษัทอีก

ด้าน "อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง" ผู้บริหารอำนวยการฝ่ายการตลาดของจีเอ็มเอ็ม (ดิจิทัล บิซิเนส) บอกว่า แกรมมี่ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะการให้บริการเทเลเซลส์เป็นสิ่งผู้พิการสามารถทำได้ถ้ามีซอฟต์แวร์ช่วยเหลือ ซึ่งหากพัฒนาเป็นอย่างดีต่อไปอาจจะเผยแพร่ซอฟต์แวร์ไปยังต่างประเทศได้ด้วย


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์ - BIZWEEK ประจำวันที่ 21 มีนาคม - 28 มีนาคม 2551 คอลัมน์ I-BIZ อ้างอิงลิ้งค์ http://www.bangkokbizweek.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น