หน้าหลัก....Log in สมาชิก....Log in ฝ่ายบริหาร....ความเป็นมา....PWDOM....ติดต่อเรา
.........................................................................................................................................................................................

ปิดโครงการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2551

..........

โครงการหางานเพื่อเพื่อนผู้พิการ ครั้งที่ 1

.

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ BIZWEEK (กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์) : เสียงรอสาย เพื่อเพื่อนผู้พิการ

เสียงรอสายเพื่อเพื่อนผู้พิการ

พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

“โอกาส” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเสมอ ยิ่งกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย หรือผู้พิการ โอกาส ยิ่งเป็นสิ่งพิเศษ เพราะจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการทำกิจกรรมใดๆ ได้ไม่แตกต่างจากคนปกติ ไม่ได้เป็นเพียงภาระของคนรอบข้างเท่านั้น และบางครั้งก็สามารถทำได้ดียิ่งกว่า

บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือฮัทช์ ร่วมกับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้หยิบยื่นโอกาสการทำงานให้แก่ผู้พิการ ด้วยโครงการนำร่อง ฮัทช์ คัลเลอร์ริง โปรเจค ส่งเสริมให้กลุ่มผู้พิการให้บริการเทเลเซลส์ เพลงรอสายของฮัทช์ ระยะเวลา 3 เดือน

จากโครงการนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยผู้พิการ มี “ปรีดา ลิ้มนนทกุล” ผู้จัดการทั่วไป หนึ่งในผู้พิการเช่นเดียวกัน เป็นผู้บริหารและประสานงานภายในโครงการ เป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมผู้พิการเข้าร่วมทำงานในองค์กรทั้งเอกชนและรัฐ เพื่อให้ผู้พิการมีรายได้

“โอกาสที่ผู้พิการจะได้ทำงานในองค์กรเป็นไปได้น้อยมาก เพราะมีขีดจำกัดในการทำงานสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือการเดินทางไปทำงาน ทางบริษัทจึงหางานให้ผู้พิการ และได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ผู้พิการสามารถทำงานที่บ้านได้” ปรีดา บอก

ปรีดา เล่าถึงการเริ่มงานโครงการนำร่องนี้ว่า การทำงานช่วงเดือน มี.ค. หรือ 15 วันแรกของโครงการ เป็นบททดสอบที่สำคัญของพีดับบลิวดี และสมาชิกผู้พิการเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถเสนอบริการเสียงรอสายให้แก่ลูกค้าฮัทช์ได้เลย ยอดสูงสุดมีลูกค้าตอบรับมาเพียง 8 รายใน 1 วัน ทำให้สมาชิกผู้พิการหลายคนค่อยๆ เลิกไป

หลังจากพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เดือน เม.ย. ยอดตอบรับของลูกค้าฮัทช์ก็สูงขึ้น จนมียอดสูงสุดต่อวันกว่า 500 ราย รวมถึงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มียอดตอบรับแล้วประมาณ 11,000 ราย จากข้อมูลลูกค้าฮัทช์ทั้งหมดที่ใช้ไปกว่า 60,000 รายเท่านั้น เท่ากับว่ามีอัตราสำเร็จประมาณ 20% แต่เป้าหมายของโครงการ ณ วันสุดท้าย ต้องการยอดตอบรับที่ 30,000 ราย ที่สำคัญ มีสมาชิกผู้พิการที่ทำงานอย่างต่อเนื่องประมาณ 15 คนเท่านั้น จากยอดรวมที่กำหนดไว้ 50 คน

“การรับผู้พิการต้องคัดเลือก ดูว่าใครมีทัศนคติอย่างไร ทำงานร่วมกันได้ มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ที่ผ่านมา พีดับบลิวดี บอกยกเลิกสมาชิกผู้พิการไปหลายราย เช่น บางคนเห็นว่ารายได้ 25 บาทต่อหัว ต่ำเกินไป ทั้งหมดจะขึ้นเวบไซต์ไว้ที่ http://pwdom.blogspot.com/ พร้อมสาเหตุของการบอกยกเลิก เพื่อความโปร่งใสของโครงการ สามารถร้องเรียนได้ด้วย” ปรีดา บอก

ส่วนของระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงานนั้น มีการเก็บข้อมูลเชิงการตลาดไว้ทั้งหมด เพื่อประโยชน์ของฮัทช์ ในการวิเคราะห์เพื่อใช้งานต่อไป เช่น ลูกค้าเพศใดตอบรับดี ใช้โปรโมชั่นใดอยู่ อารมณ์ขณะปฏิเสธการเสนอขาย ฯลฯ

แม้จำนวนคนจะน้อย แต่พีดับบลิวดี ก็ใช้สิ่งกระตุ้นการทำงานของผู้พิการเช่นกัน โดยเมื่อจบโครงการ ผู้พิการที่มียอดลูกค้าตอบรับ 1,500 เลขหมาย พีดับบลิวดีจะสนับสนุนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง ถ้ามียอด 500 เลขหมาย จะมีหนังสือรับรองผลงาน ใช้ประกอบการยืมเงินกองทุนฯ จาก พก. มูลค่า 40,000 บาท เพื่อใช้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือถ้ามียอด 300 เลขหมาย ได้รับใบรับรองการผ่านงาน นำไปประกอบการสมัครงานในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้

ถึงวันที่ 26 พ.ค. ยอดอันดับ 1 เป็นของ “สุธีรา โพธิ์ทอง” มียอดตอบรับ 2333 เลขหมาย อันดับ 2 “จันทร์หอม แสงไชย” ยอดตอบรับ 2149 เลขหมาย อันดับ 3 “นิศาชล พรหมภูเบศ” ยอดตอบรับ 1795 เลขหมาย และอันดับ 4 “ทรงวิทย์ เลิศวไลพงศ์” ยอดตอบรับ 1560 เลขหมาย

“หลายคนต้องมาทำงานที่ พีดับบลิวดี เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แต่พอมีโครงการสนับสนุนเกิดขึ้น ทุกคนก็ตั้งใจเต็มที่ เพราะถ้ามีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง ก็ไม่ต้องเดินทาง สามารถทำงานที่บ้านได้ และทำได้ตลอดเวลา อย่างน้อย 4 คนที่ได้ไปแล้ว จะเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนผู้พิการคนอื่นๆ” ปรีดา บอก

ส่วนความมั่นคงและยืนยาวของโครงการฮัทช์ คัลเลอร์ริง โปรเจค จะจบลงกลางเดือน มิ.ย.นี้ แต่พีดับบลิวดีก็หวังว่าจะได้รับการต่อเวลาออกไปเป็นการให้บริการถาวรได้ เพื่อเป็นอาชีพผู้พิการ เพราะถ้าดูจากประสิทธิภาพแล้ว ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และปัจจุบันก็มีบริษัทประกันติดต่อมาเพื่อเริ่มโครงการในลักษณะเดียวกันแล้ว

ปรีดา ทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกองค์กร ทุกบริษัท มีความต้องการช่วยเหลือผู้พิการโดยการให้โอกาสเข้าทำงาน แต่ติดที่ขาดความเข้าใจระหว่างกัน ผลจึงไม่เกิดขึ้น ส่วนนี้พีดับบลิวดีจะเป็นผู้ฝึกอบรมและประสานงาน ให้เกิดความเข้าใจและให้ผู้พิการได้ร่วมกันแสดงความสามารถให้สังคม และสถานประกอบการต่างๆ เห็นศักยภาพของผู้พิการ


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์ - BIZWEEK ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2551 คอลัมน์ I-BIZ อ้างอิงลิ้งค์ http://www.bangkokbizweek.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น